หากใครที่เป็นแฟนอิกคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ต้องเคยได้ยินชื่อ ‘คินคาคูจิ’ กันคุ้นหู แต่ความงดงามของคินคาคูจิของจริงนั้น สวยงามเสียยิ่งกว่าในการ์ตูน หลายเท่านัก เพราะวิหารทองแห่งนี้ ปิดด้วยทองคำบริสุทธิ์สีทองแวววาว!!

คินคาคูจิ หรือ วัดวิหารทอง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘วัดโระคุงอนจิ’ ซึ่งมีความหมายว่า วัดสวนกวาง เป็นวัดที่วิจิตรงดงามอีกแห่งหนึ่งในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จนองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี 1994

วิหารหลังงามแห่งนี้ แต่เดิมเคยเป็นที่ดินของไซออนจิ คิซูเนะ (ค.ศ.1171-1244) หลังจากนั้นก็ตกเป็นของท่านโชกุน โยชิมิตสึ อาชิคางะ ที่คุ้นหูในการ์ตูนเรื่องอิกคิวซังนั่นเอง ซึ่งขณะนั้นท่านโชกุนโยชิมิตสึได้ใช้วัดแห่งนี้เป็นที่พักผ่อน และรับรองแขกสำคัญ เช่น จักรพรรดิโคมัตสึ พระบิดาของ อิกคิวซัง ต่อมาในปี 1419 บุตรชายของโชกุนอาชิคางะได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นวัดนิกายเซน สายรินไซ

ภายในคินคาคูจินั้น แต่เดิมครั้งยังเป็นสถานที่ตากอากาศ ของท่านโชกุน มีอาคารหลายแห่งปรากฏอยู่ อย่างเช่นรูปจำลองของประสาทชิชิน-เดน แต่เมื่อได้เปลี่ยนเป็นวัดแล้ว จึงถูกรื้อถอนออกไป แต่ตอนนี้แม้จะไม่มีอาคารอื่นๆ ให้เห็น แต่สวนและต้นไม้รอบๆ คินคาคูจินั้น ก็ยังคงสภาพดั้งเดิมเช่นเมื่อร้อยกว่าปี

บรรยากาศร่มรื่นต้อนรับผู้ไปเยือนตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตัววัด ด้านขวามือเป็นเขตของพระและฮอนโด ซึ่งเป็นวิหารหลัก และมีต้นคาเมลเลียที่พระจักรพรรดิโก มิซูโนโอะ ทรงปลูกไว้ ประดับอยู่ด้านหน้าหอ หลังจากที่เดินไปตามทางตลอดแนวของต้นไม้ ก็จะเห็นประตูกลาง หรือชูมอง ซึ่งด้านขวาจะมีก้อนหินรูปเรือขนาดใหญ่ประดับอยู่ ส่วนด้านซ้ายจะเป็น ส่วนของหอระฆัง หรือที่เรียกว่า ‘โชโร’ เมื่อเดินไปจนสุดก็จะพบกับประตูจีน หรือคารามอน

เมื่อเดินผ่านประตูจีนเข้าไป ก็จะเห็นภาพที่สวยงามที่สุด นั่นก็คือ สระกระจก ที่สะท้อนภาพศาลาทองอร่ามชัดเจน สระกระจก ถูกออกแบบให้เป็นสระน้ำบนสรวงสวรรค์ ภาย ในสระมีดอกบัว และยังมีเกาะเล็กๆและก้อนหินโผล่พ้นขึ้น มาเหนือน้ำ ซึ่งก็เปรียบเป็นมหาสมุทร 8 แห่ง และภูเขา 9 ลูก ในตำนานของเซน

ทิวทัศน์เหล่านี้เป็นเสน่ห์จูงใจให้ผู้มาพบเห็นเกิดความสงบและศรัทธา โดยเฉพาะในหน้าหนาว จะเห็นใบไม้และต้นไม้เปลี่ยนเป็นสีแดงและสีส้ม ส่วนในฤดูหนาวทุกสิ่งทุกอย่างจะปกคลุมไปด้วยหิมะ เห็นเป็นสีขาวโพลน

ส่วนวิหารทองนั้นนับว่าเป็นจุดที่ดึงดูดใจผู้ที่มาพบเห็นเป็นที่สุด เป็นอาคาร 3 ชั้น ตั้งตระหง่านด้วยความสูง 12.8 เมตร กว้าง 10 เมตร และยาว 15.2 เมตร แต่ละชั้นมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ต่างกันไป

สำหรับชั้นแรกของวิหาร เรียกว่า ‘โฮซุยอิน’ ตกแต่งสไตล์ชินเดน-ซูคูริ เป็นห้องโถงขนาดใหญ่และมีระเบียงไม้ล้อมรอบแบบพระราชวังสมัยนั้น พื้นที่ส่วนนี้ใช้เป็นส่วนต้อนรับแขกสำคัญ

ชั้นที่ 2 ถูกออกแบบในสไตล์บ้านของซามูไร หรือเรียกว่า ‘โชฮอนโด’ ซึ่งท่านโชกุนจะใช้เป็นที่ประชุม หรือพบปะกับแขกผู้มีเกียรติ ผนังของห้องตกแต่งด้วยภาพวาดของ คาโน่ มาซาโนบุ ในยุค 1434-1530

ส่วนชั้นที่ 3 เรียกว่า ‘คูเคียวโช’ เป็นรูปแบบวัดนิกายเซน มีพื้นที่เพียง 23 ตารางฟุต ซึ่งเป็นที่ที่ท่านโชกุนใช้พบ ปะกับเพื่อนสนิทเพื่อดื่มน้ำชา การตกแต่งของชั้นนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะของจีน มีขอบหน้าต่างเป็นรูประฆัง มีพระพุทธรูป 3 องค์ประทับอยู่

ชั้นที่ 2 และ 3 ใช้ขั้นตอนที่เรียกว่า อูรูชิ เป็นการทาเคลือบวัสดุตามแบบของญี่ปุ่น เพื่อเป็นการรักษาและเชื่อมวัสดุเข้าด้วยกัน แล้วใช้แผ่นทองคำน้ำหนักรวม 20 กก. ปิดทับรวม 5 ชั้น สร้างความโอ่อ่าอลังการเป็นอย่างมาก วิหารทองแห่งนี้ยังเป็นตัวแทนของการรวมวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับจีนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโชกุน โยชิมิตสุ ชื่นชอบ วัฒนธรรมและศิลปะของจีนเป็นพิเศษ

แม้ความงามของวิหารทองแห่งนี้ จะถูกสร้างขึ้นด้วยแรง ศรัทธา แต่ก็ถูกเผาทำลายหลายครั้งในระหว่างสงครามโอนิง และครั้งหนึ่งวิหารถูกเผาจากฝีมือของพระในวัดวัย 21 ปี และเมื่อถูกจับได้ ก็ยอมสารภาพว่า ตัวเองอยากตายในกอง เพลิงพร้อมกับวิหารสีทองแสนสวยแห่งนี้ และวิหารที่เห็นใน ปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิมเมื่อปี พ.ศ.2498

นอกจากวิหารทองและสระกระจกแล้ว ใกล้ๆกันยังมีน้ำตกและจุดกำเนิดน้ำแร่ธรรมชาติ ที่ท่านโชกุนนำไปชงชา มีเรือนน้ำชา สวนญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าใครไปเยือนก็ต้องตื่นตาตื่นใจไปกับวิวทิวทัศน์อันสวยงาม และความระยิบระยับของวิหารทองแห่งนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือน วัดคินคาคูจิและอุทยาน ในคราเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่าง เป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2506 ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยวิหารแห่งนี้เป็นอย่างยิ่งและเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2550 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ก็ได้เสด็จเยือนวัดแห่งนี้ด้วย
http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=10475